ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน

ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ตาม

ภูมิปัญญาในป่าชุมชนอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

เรื่อง พืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา
ในป่าชุมชน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ดูเอกสารฉบับเต็ม

 

บทที่ 1

ความสำคัญและที่มาโครงการเผยแพร่ข้อมูล

สมุนไพรในอู่ทอง: การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา

          โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับประชาชนชาวไทย                มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช ให้ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย และมีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชที่สามารถสื่อถึงกันทั่วทั้งประเทศ เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและสนพระทัยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสรรพสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ และความหลากหลายของพรรณพืชตลอดจนป่าไม้อันเป็นถิ่นกำเนิด อยู่ในความสนพระทัยของพระองค์มานาน เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงโปรดหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา และเมื่ออ่านแล้วทรงจดจำเรื่องราวได้หมด ระหว่างโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ ได้ทรงสังเกตศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้อยู่เสมอ ทรงใฝ่ในความรู้และวิทยาการใหม่ๆ มีพระปรีชาสามารถในการสังเกตจดจำเรื่องราวสิ่งต่างๆ ที่ทอดพระเนตร พร้อมทรงจดบันทึกโดยละเอียด

อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของลักษณะภูมิประเทศ ด้านทิศตะวันตกขึ้นไปจนถึงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนสลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น ยาวไปถึงเขตจังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ภูเขาทั้งหมดถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจัดทำป่าชุมชนจำนวน 4 แปลง ประกอบด้วยป่าชุมชนบ้านทุ่งดินดำ ป่าชุมชนบ้านจร้าใหม่ ป่าชุมชนบ้านเขาทอก และป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ โดยป่าชุมชนทั้ง 4 แปลง มีสภาพป่าจัดอยู่ในประเภทป่าเบญจพรรณ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกตลอดแนวและด้านทิศใต้มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำจรเข้สามพันและลำน้ำสายย่อยต่างๆ  อีกทั้งมีความหลากหลายของพันธุ์พืชทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ทั้งหมด 209 ชนิด  159 สกุล 78 วงศ์ พบสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด 127 ชนิด สามารถแยกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 9 ชนิด กลุ่มเลื้อยคลานจำนวน 9 ชนิด กลุ่มสะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 6 ชนิด กลุ่มสัตว์ปีกจำนวน 65 ชนิด และกลุ่มปลาจำนวน 38 ชนิด จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้อำเภออู่ทองเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน พบร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรมากมาย ควรค่าแก่การอนุรักษ์และต่อยอดการใช้ประโยชน์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญสืบต่อไป

ดังนั้นสาขาวิชาจุลชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้เล็งเห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประสกนิกรชาวไทย จึงจัดโครงการเผยแพร่พรรณพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาในป่าชุมชนอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยรวบรวมพรรณพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาในรูปแบบหนังสือภาพ ประกอบคำบรรยายจัดพิมพ์ 4 สี มอบให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นผู้อยู่ใกล้ชิดทรัพยากรได้เข้าใจและตระหนักในความสำคัญ รู้สึกหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้เพื่อการศึกษาของอำเภออู่ทอง

 

จุดประสงค์

  1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลพรรณพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
  2. เพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
  3. เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากร

 

บทที่ 2

การดำเนินโครงการเผยแพร่ข้อมูลสมุนไพรในอู่ทอง: การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา

  1. การสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อม

ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้นำชุมชน พระภิกษุ ครูและผู้อาวุโสในชุมชน เพื่อร่วมกันวางแผน บอกเล่าถึงปราชญ์สมุนไพรในอดีต

  1. การสำรวจ รวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

สำรวจความหลากหลายชนิดพันธุ์พืชสมุนไพร สอบทานทางวิทยาศาสตร์ จัดทำอนุกรมวิธานพืช จัดทำบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์พืชสมุนไพร และสำรวจปราชญ์สมุนไพรในอู่ทอง และบันทึกวิธีการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษหรือการเรียนรู้จากสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลเผยแพร่ให้กับชุมชนส่งเสริมการอนุรักษ์ต่อไป

3.เผยแพร่ข้อมูลให้กับหน่วยงานต่างๆ

ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้กับหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ห้องสมุดประชาชนในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ

 

บทที่ 3

ผลการดำเนินโครงการเผยแพร่ข้อมูล

สมุนไพรในอู่ทอง: การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา

ประมวลภาพการดำเนินงานโครงการเผยแพร่ข้อมูลพรรณไม้ในอู่ทอง

  1. ติดต่อประสานงานเพื่อกำหนดพื้นที่สำรวจ

  1. สำรวจความหลากหลายชนิดพันธุ์พืช

บทที่ 4

สรุปงานทั้งหมดของโครงการเผยแพร่ข้อมูล

สมุนไพรในอู่ทอง: การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา

 

จากการดำเนินการสำรวจพืชสมุนไพรและวิธีการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและการเรียนรู้จากประสบการณ์ในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมทั้ง 13 ตำบล  พบชนิดพันธุ์พืชสมุนไพรทั้งหมด 66 ชนิด พบปราชญ์สมุนไพรที่ยังคงรักษาวิธีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งหมด 16 คน  และตำรับยาสมุนไพรทั้งหมด 88 ตำรับ และได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่อำเภออู่ทองได้รับทราบข้อมูลสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ บ้านเขาพระ บ้านทุ่งดินดำ บ้านห้วยคู้ บ้านเนินสมบัติ บ้านหนองบัว ประชาชนในพื้นที่นอกเขตป่า คือ บ้านเขากระจิว บ้านยางไทย ครู และนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่อำเภออู่ทอง นักท่องเที่ยวที่เข้าเที่ยวชมสวนหินพุหางนาค วนอุทยานพุม่วง และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น

 

บทที่ 5

ข้อเสนอแนะ

1.การจัดค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกในการหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น

2.พัฒนาและผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ด้านสมุนไพรฉบับการ์ตูนที่เหมาะสมกับระดับเยาวชน

3.การต่อยอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน

4.การวิจัยพัฒนาสร้างมาตรฐานสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Scroll to Top